อยากผิวนุ่ม ชุ่มชื้น หน้าตึง ไม่ต้องพึ่งโบท็อกซ์แต่ประการใด เพราะมีงานวิจัยพบว่าผักพื้นบ้านและสมุนไพรไทยที่ชื่อว่า "ผักเบี้ยใหญ่" ช่วยบำรุงผิวพรรณและรักษาพร้อมป้องกันได้อีกสารพัดโรค แต่หลายคนไม่รู้ว่าผักเบี้ยใหญ่ที่ดูคล้ายกับวัชพืชขึ้นตามพื้นดินมีดีขนาดนี้ ถ้าอย่างนั้นก็ได้เวลาไปรู้จักสรรพคุณของผักพื้นบ้านชนิดนี้กันแล้ว
ผักเบี้ยใหญ่ ภาษาอังกฤษ คือ โพสเลน (Purslane) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Portulaca oleracea Linn. ชื่อสามัญ คือ Pigweed Purslane จัดอยู่ในวงศ์ PORTULACACEAE ถือเป็นพืชตระกูลเดียวกับคุณนายตื่นสาย พบได้ทั่วไปในทุกภาคของประเทศไทย และยังมีชื่อเรียกอีกหลายชื่อตามแต่ละพื้นที่ เช่น ผักเบี้ยดอกเหลือง, ผักตาโค้ง,ผักอีหลู, ตะก้ง, แดงสวรรค์ เป็นต้น
ลักษณะทางพฤกษ์ศาสตร์
ลำต้น : เป็นพืชล้มลุกลำต้นเตี้ย อวบน้ำ เลื้อยทอดไปตามดิน มีสีเขียวหรือม่วงแดง ปลายตั้งชูขึ้นแผ่เป็นผืนใหญ่สูงราว ๆ 5-10 เซนติเมตร
ใบ : ใบเดี่ยว ออกตรงกลาง มีลักษณะรูปไข่กลับ หรือคล้ายลิ้น ปลายมน โคนเรียวเล็ก ใบหนาเป็นมัน สีเขียว
ดอก : มีทั้งดอกเดี่ยว หรืออาจออกเป็นช่อแต่ไม่มีก้านดอก ดอกมีขนาดเล็กสีเหลืองสดก้านสั้น มีขนหรือเยื่อบาง ๆ รอบที่โคนดอก
ผล : มีลักษณะกลมรี เมื่อสุกจะมีสีเหลืองเข้ม เมื่อแก่จะมีสีน้ำตาล
เมล็ด : มีลักษณะกลมหรือรูปไตสีดำเป็นเงา มีจำนวนมาก
ทั้งนี้ ผักเบี้ยใหญ่ขึ้นง่ายตามธรรมชาติ มักพบตามซอกหินซอกกำแพง พื้นดิน
คุณค่าทางอาหารของผักเบี้ยใหญ่
จากข้อมูลของกองโภชนาการ กรมอนามัย ระบุว่า ส่วนยอดอ่อนของผักเบี้ยใหญ่ในปริมาณ 100 กรัม ให้คุณค่าทางอาหารดังนี้
- พลังงาน 37 กิโลแคลอรี
- โปรตีน 2.2 กรัม
- ไขมัน 0.3 กรัม
- คอเลสเตอรอล 7.9 กรัม
- แคลเซียม 115 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 40 มิลลิกรัม
- เหล็ก 1.4 มิลลิกรัม
- วิตามินเอ 2,200 IU
- วิตามินบี 1 0.06 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 2 0.14 มิลลิกรัม
- ไนอะซิน 0.8 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 21 มิลลิกรัม
ทั้งนี้คนนิยมนำยอดอ่อนและใบอ่อนของผักเบี้ยใหญ่มาทานเป็นผักสด ต้ม ลวก หรือทำเป็นผักสลัด ใส่ในไข่เจียว บ้างก็จิ้มกับน้ำพริก ทำน้ำบูดู หรือทำแกงส้ม เพราะมีรสชาติออกเปรี้ยว
ผักเบี้ยใหญ่ สรรพคุณไม่ใช่น้อย ๆ
นอกจากสารอาหารที่กล่าวมาแล้ว ผักเบี้ยใหญ่ ยังมีแร่ธาตุอีกมากมาย จึงมีสรรพคุณในการรักษาอาการต่าง ๆ ได้ดี ลองไปดูกันว่ามีอะไรบ้าง
บำรุงผิวพรรณให้เต่งตึง
ผักเบี้ยใหญ่มีคุณสมบัติในการป้องกันแสง และยังทำให้ใบหน้าผุดผ่อง ชุ่มชื้น รวมทั้งแก้แพ้ ทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย หน้าเต่งตึงไม่ต้องฉีดโบท็อกซ์ พ่วงด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ดังนั้นในต่างประเทศจึงนำสารสกัดจากผักเบี้ยไปผสมในเครื่องสำอางสำหรับผิวที่แพ้ง่าย บอบบาง เพราะมีความปลอดภัยมากกว่า
รักษาอาการทางผิวหนัง
ผักเบี้ยใหญ่มีสรรพคุณในการรักษาโรคผิวหนัง ไม่ว่าจะเป็นโรคสะเก็ดเงิน หรือโรคผิวหนังต่าง ๆ
ช่วยบำรุงสมอง
เชื่อไหมว่าผักเบี้ยใหญ่มีโอเมก้า 3 สูงมากกว่าน้ำมันปลาเสียอีก ซึ่งกรดไขมันชนิดนี้ขึ้นชื่อในเรื่องการบำรุงสมอง เสริมสร้างความจำ
ลดคอเลสเตอรล ป้องกันโรคหัวใจ
นอกจากผักเบี้ยใหญ่จะมีโอเมก้า 3 สูงแล้วก็ยังมีไขมันและคอเลสเตอรอลต่ำ ดังนั้นจึงดีต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดด้วย ทานแล้วช่วยลดคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ที่เป็นไขมันตัวร้าย
แก้ท้องผูก รักษาริดสีดวง
ผักเบี้ยใหญ่มีเส้นใยอาหารสูงมาก อีกทั้งยังมีความเป็นเมือกลื่น เมื่อทานแล้วจะทำให้ขับถ่ายสะดวกขึ้น
แก้หวัด แก้ไอ เลือดออกตามไรฟัน
คนที่เป็นหวัดหรือมีเลือดออกตามไรฟันมักขาดวิตามินซี ซึ่งส่วนลำต้นของผักเบี้ยใหญ่มีวิตามินซีสูงมาก การทานผักเบี้ยใหญ่จึงช่วยป้องกันรักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วยจากการเป็นหวัด รวมทั้งรักษาอาการเหงือกบวม เลือดออกตามไรฟันได้ชะงัด
วิธีใช้คือ นำผักเบี้ยใหญ่ส่วนเหนือดิน (สด) 1 กำมือ ล้างน้ำให้สะอาด โขลกคั้นเอาน้ำ กรองเอากากทิ้ง ผสมน้ำผึ้งลงไป 1 ช้อนโต๊ะ จิบกินแก้หวัด ระงับอาการไอ
นอกจากนี้ ผักเบี้ยใหญ่ ยังช่วยแก้ร้อนใน แก้ตัวร้อน แก้ไข้ในเด็ก รักษาโรคภูมิแพ้ บำรุงไขข้อ ทำให้ดวงตาไม่แห้ง แก้บิด ลำไส้อักเสบ แก้ท้องร่วง อีกทั้งมีสิทธิบัตรในการต้านโรคมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งเตานม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ ฯลฯ ขณะที่ในต่างประเทศก็ยังนำผักเบี้ยใหญ่ไปใช้ในการบำบัดรักษาโรคต่าง ๆ เช่นกัน
สรรพคุณผักเบี้ยใหญ่ตามตำรับยา
- ใบ : แก้ไอแห้ง แก้ขัดเบา เป็นยาขับปัสสาวะ แก้กระหายน้ำ ตำพอกหรือทาแก้แผลอักเสบบวม แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก แก้ริดสีดวงทวารปวดบวม
- ทั้งต้น : แก้บิดถ่ายเป็นเลือด แก้แผลเน่าเปื่อยเป็นหนองเรื้อรัง แก้เหงือกบวม แก้เจ็บคอ เลือดออกตามไรฟัน แก้ไอ ขับเสมหะ ช่วยให้เจริญอาหาร ช่วยหล่อลื่นลำไส้ ช่วยห้ามเลือด
- เมล็ด : ใช้ขับพยาธิ เป็นยาระบายอ่อน ๆ ช่วยขับปัสสาวะได้
- น้ำคั้นของต้น : นำมาทาแก้แผลแมลงกัดต่อย หรือนำมาดื่มแก้หนองใน ปัสสาวะขัด
วิธีและขนาดที่ใช้
ใช้ต้นแห้งหนัก 10-15 กรัม (ต้นสดหนัก 60-120 กรัม) ต้มเอาน้ำ หรือคั้นเอาน้ำกิน ใช้ภายนอก ผิงไฟให้แห้งลบดเป็นผงผสมน้ำทา หรือต้มเอาน้ำชะล้างบริเวณที่เป็น
ข้อควรระวัง
- สตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทาน
- ผู้ป่วยโรคไตควรระมัดระวังในการใช้ เพราะใบสดของผักเบี้ยใหญ่มีกรดออกซาลิกสูง อีกทั้งยังมีปริมาณโพแทสเซียมสูง จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อน
- คนธาตุอ่อนท้องเสียง่ายไม่ควรรับประทาน
ผักพื้นบ้านและสมุนไพรของไทย ๆ นี่ล่ะเป็นยาขนานเอกที่คนโบร่ำโบราณนำมาใช้รักษาอาการเจ็บป่วย แม้ว่าสมัยนี้คนเจ็บไข้ได้ป่วยจะหันไปพึ่งยาแผนปัจจุบัน แต่ก็ยังมีการนำสมุนไพรไทยมาร่วมใช้บำบัดรักษาอยู่ไม่น้อย หนึ่งในนั้นก็คือ "ผักเบี้ยใหญ่" ของดีใกล้ตัวที่หาได้ไม่ยากเลย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
หมอชาวบ้าน, คมชัดลึก
ไทยเกษตรศาสตร์
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์
กรมส่งเสริมการเกษตร
อภัยภูเบศร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น