ภาวะปัสสาวะเล็ดราดในผู้หญิงและผู้ชาย ปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม
ในต่างประเทศอุบัติการณ์ของโรคนี้สูงกว่าในบ้านเรามาก เนื่องจากมักมาปรึกษาแพทย์แต่เนิ่นๆ แตในบ้านเรามักเกิดความรู้สึกอายที่เป็นโรคนี้และอายที่จะมาปรึกษาแพทย์
ธุรกิจที่กำลังมาแรง
มักมาปรึกษาเมื่อมีอาการมานานหรือมีอาการมากแล้ว ก่อนอื่นขอให้ทำความเข้าใจขบวนการใขการปัสสาวะเสียก่อน วงจรของการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในการปัสสาวะที่ปรกติมีดังนี้ เมื่อไตทำการขับปัสสาวะออกมาเก็บกักในกระเพาะปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะจะคลายตัว ไม่มีการบีบตัวหูรูดและกล้ามเนื้อในอุ้งเชิงกรานจะหดตัวเพื่อกันไม่ให้ปัสสาวะมีการรั่วซึม เมื่อกระเพาะปัสสาวะกักเก็บน้ำเต็มที่ สมองและระบบประสาทจะสั่งให้เราขับปัสสาวะออกเราจะรู้สึกปวดปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะจะบีบตัว ในขณะที่หูรูดและกล้ามเนื้อในอุ้งเชิงกรานคลายตัวปัสสาวะก็จะถูกปล่อยออกมาได้
ปัสสาวะเล็ดเกิดจากสาเหตุและปัจจัยใดบ้าง ?
เกิดจากความผิดปรกติทั้งในด้านการทำงานและทางด้านกายภาพของอวัยวะที่มีส่วนในการควบคุมการปัสสาวะ เช่น สมองและระบบประสาทควบคุมการปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ ระบบหูรูด และกล้ามเนื้อในอุ้งเชิงกราน
วัยและการตั้งครรภ์เป็นสาเหตุของโรคนี้หรือไม่ ?
อาการปัสสาวะเล็ดเกิดในผู้หญิงได้ทุกวัย แต่สาเหตุและอุบัติการณ์ของโรคจะไม่เหมือนกัน ในวัยเด็กเกิดจากระบบการควบคุมการปัสสาวะยังไม่เข้าที่ และพฤติกรรมรวมทั้งอุปนิสัยบางอย่างทำให้เกิดอาการได้ มักออกมาในรูปแบบ การปัสสาวะรดที่นอนในตอนกลางคืน ในวัยสาวมักเกิดจากอุปนิสัยบางอย่างที่ไม่เหมาะสม เช่น การดื่มน้ำบ่อย การกลั้นปัสสาวะย่อยๆ หรือกลั้นเป็นเวลานานๆ ซึ่งจะทำให้กระเพาะปัสสาวะเกิดการบีบตัวผิดปรกติ จนบางครั้งมีการบีบตัวมากจนเรากลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ในวัยกลางคนหรือเคยตั้งครรภ์หรือเคยผ่าตัดมดลูดมาก่อน อาจมีการเสื่อมของหูรูดและหย่อนยานของผนังช่องคลอดรวมทั้งบริเวณคอกระเพาะปัสสาวะ ทำให้บริเวณคอกระเพาะปัสสาวะปิดไม่สนิทเกิดมีปัสสาวะรั่วออกมาได้ ในวัยสูงอายุและประจำเดือนหมดแล้วทำให้ฮอร์โมนเพศหญิงลดลงทำให้เยื่อบุในท่อปัสสาวะขาดความยืดหยุ่นทำให้ระบบการปิดกลั้นปัสสาวะของท่อปัสสาวะลดลงทำให้ปัสสาวะรั่วซึมได้เช่นกัน
ผู้หญิงเป็นโรคนีมากกว่าผู้ชายมากน้อยเพียงใด เหตุใดผู้หญิงจึงเป็นมากว่าผู้ชาย ?
ผู้หญิงมีอุบัติการณ์ของการเกิดโรคนี้มากขึ้น เช่น การตั้งครรภ์ การคลอด การผ่าตัดทางนรีเวชโดยเฉพาะการผ่าตัดมดลูก จากการศึกษาพบว่าในประชากร 100 คน จะพบผู้ที่มีปัญหานี้ ประมาณ 20 คน ในจำนวนนี้พบเป็นผู้หญิง 15 คน และเป็นผู้ชาย 5 คน
โรคปัสสาวะเล็ดมีอาการอย่างไร?
อาการของการปัสสาวะเล็ดนั้นมีอาการได้หลายลักษณะ เช่น มีความรู้สึกว่าต้องถ่ายปัสสาวะแต่ไม่สามารถไปถ่ายปัสสาวะได้ทัน การไอ จาม มีปัสสาวะเล็ดออกมา อาการปัสสาวะไหลราดตลอดเวลา ปัสสาวะรดที่นอน ปัสสาวะหยดหลังการปัสสาวะ
วิธีการรักษาและดูแลตนเอง ?
การดูแลรักษาขึ้นกับสาเหตุของโรคว่าเกิดขึ้นที่อวัยวะในการควบคุมการปัสสาวะส่วนใดเกิดความบกพร่อง โดยทั่วไปแนวทางในการรักษามีอยู่ 3 วิธีหลัก คือ พฤติกรรมบำบัด การรักษาทางยา และการผ่าตัด สำหรับผู้ที่มีอาการไม่มากควรเริ่ม ด้วยการทำพฤติกรรมบำบัดก่อน ซึ่งมีการฝึกกล้ามเนื้อในอุ้งเชิงกรานเป็นวิธีการหลัก วิธีการทำง่ายๆ โดยการขมิบหูรูดลักษณะเหมือนที่เรากลั้นปัสสาวะไว้ทำอย่างน้อยวันละ 100 ครั้ง แล้วเพิ่มจำนวนครั้งขึ้นเรื่อยๆ วิธีการนี้ต้องมีความอดทนเพราะต้องใชเวลานับเดือนๆ กว่าจะเกิดผล และควรทำต่อเนื่องไปตลอดเพื่อลดการเกิดซ้ำ บางครั้งก็ต้องร่วมกับการรักษาทางยา เช่น ยาช่วยในการบีบตัวของกล้ามเนื้อบริเวณท่อปัสสาวะ ยาลดการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น หรือการใช้อุปกรณ์ในการลดการรั่วซึมของปัสสาวะ เช่น อุปกรณ์สอดช่องคลอด เพื่อยกและกดบริเวณทางออกหรือคอของกระเพาะปัสสาวะไว้ หรืออุปกรณ์สอดใส่ท่อปัสสาวะ หรือการใช้ผ้าอนามัย เพื่อซับน้ำปัสสาวะที่รั่วซึมไว้ แต่ถ้ามีอาการมากจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด เช่น ในกรณีที่มีการหย่อนของคอปัสสาวะ จะทำการผ่าตัดเพื่อพยุงบริเวณคอกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะส่วนต้นไว้ ถ้ามีการหย่อนของผนังช่องคลอดร่วมด้วยก็จะทำการผ่าตัดซ่อมแซมผนังช่องคลอดด้วย ที่เราเรียกกันทั่วไปว่าการทำรีแพร์
ขอบคุณมากๆๆๆ สำหรับข้อมูลดี
ตอบลบ